บ้านแฝด ประเภทบ้านที่เรามักได้ยินคุ้นๆกัน แท้จริงแล้วมันต่างกับบ้านเดี่ยวอย่างไร ทรงบ้านเป็นแบบใหน หน้าตาต่างจากบ้านเดี่ยวมั้ย พื้นที่เป็นอย่างไร แล้วราคาต่างขนาดใหน หลายๆคำถามเกิดมากมาย โดยเฉพาะคนที่กำลังคิดจะซื้อบ้าน ถ้าคนไม่ได้คิดจะซื้อบ้าน อยู่ดีๆคง ไม่ตั้งข้อสงสัยหรอกว่า มันเป็นยังไงก็แน่ใช่มั้ยหล่ะ หลายๆ ท่านที่ขณะนี้กำลังเลือกซื้อบ้าน อาจเกิดความสับสน ระหว่างบ้านแฝดกับบ้านเดี่ยว เพราะ บ้านแฝดเดี๋ยวนี้ รูปทรงก็ไม่เห็นจะต่างจากบ้านเดี่ยวเลย บ้านจัดสรรสมัยนี้ก็ช่างสรรหามานำเสนอให้เรามากมาย หลายแบบมาให้เราเลือก จนบางครั้ง เราสับสนกันไปหมดเลย ว่าตกลงมันคือบ้านแฝดหรือบ้านเดี่ยวกันแน่ วันนี้เรามาลงลึกกันไปเลยว่า บ้านแฝดนี่มันเป็นเยี่ยงไร
สิ่งแรกที่อยากให้เรารู้ก่อนเลือกซื้อบ้านคือ “ขนาดที่ดิน” และนี่แหล่ะเป็นอีกคีย์สำคัญในการแบ่งแยก ระหว่าง บ้านเดี่ยว และ บ้านแฝด เพราะประเภทบ้าน(อาคาร) แต่ะละชนิดจะถูกกำหนดด้วย เงื่อนไขของ “ขนาดที่ดิน” เช่น
- ทาวน์เฮ้าส์ ขนาดที่ดิน ต้องไม่ต่ำกว่า 16 ตารางวา
- บ้านแฝด ขนาดที่ดิน ต้องไม่ต่ำกว่า 35 ตารางวา
- บ้านเดี่ยว ขนาดที่ดิน ต้องไม่ต่ำกว่า 50 ตารางวา
คราวนี้ เราก็สามารถกันความงงงวย กับคำเซลล์ของบ้านจัดสรรซะที ไม่ว่าจะโฆษณาเรียกบ้านโครงการตัวเองว่า บ้านทรงอิสระ บ้าง บ้านแนวคิดใหม่บ้าง พอเรารู้อย่างนี้แล้ว เราก็เอาขนาดที่ดินของบ้านไปจัดการซะเลย เช่นเราดูแล้ว ขนาดที่ดิน ไม่ถึง 50 ตารางวา เราก็สามารถฟันธงไปได้เลยว่ามันคือบ้านแฝด
ประการต่อมาที่เราสามารถสังเกตได้คือ “ระยะร่น” เราสามารถจำหลักได้เลยว่า ชื่อต่างกัน “ระยะร่น” ก็ไม่เท่ากัน
“ระยะร่น” หมายถึงระยะที่เราต้องเว้นว่างไว้ หรือ ระยะห่างของแนวอาคารกับแนวเขตที่กฎหมายกำหนด เช่นพื้นที่ข้างเคียง คูคลอง ถนน โดยถือเอาแนวผนังอาคาร หรือแนวเสาของอาคารที่อยู่ริมด้านนอกสุด แต่จะไม่รวมถึงกันสาด ชายคา หรือหลังคา
- บ้านเดี่ยว จะมีระยะร่น ด้านหน้า ไม่ต่ำกว่า 3 เมตร และ ด้านที่เหลือ ด้านละ 2 เมตร
- บ้านแฝด จะมีระยะร่น ด้านหน้า ไม่ต่ำกว่า 3 เมตร ด้านหลังไม่ต่ำกว่า 2 เมตร ส่วนด้านข้างด้านนึงต้องไม่ต่ำกว่า 2 เมตร (อย่าลืมว่าด้านที่เหลือจะติดกับเพื่อนบ้าน ตามคอนเซ็บบ้านแฝด )
จากระยะร่นดังกล่าว เราก็สามารถเห็นคร่าวๆแล้ว บ้านที่เราดูอยู่ เป็นบ้านแฝดหรือไม่ เพราะจะมีด้านติดกัน จะมีระยะร่นไม่ถึง 2 เมตร (ส่วนที่ติดกัน อาจจะอยู่ใต้ดิน) นั่นเอง
ปัจจุบันบ้านแฝดถูกพัฒนาขึ้นและปรับเปลี่ยนให้มีลักษณะใหม่ ด้วยชื่อเรียกใหม่ เช่น บ้านแนวคิดใหม่ บ้านรุ่นใหม่ ผู้ประกอบการบางรายเลยสร้างให้ห้องน้ำ ห้องแม่บ้าน หรือห้องครัวติดกัน แต่ตัวบ้านหลักเหมือนแยกกันเป็น 2 หลัง ซึ่งทำให้มองแทบไม่ออกว่าเป็นบ้านแฝด หรือผู้ประกอบการณ์หลายรายที่ใช้จุดเด่นเรื่องคานเชื่อมที่ใต้ดินมาใช้ในการสร้างบ้านแฝด ทำให้มองไม่เห็นถึงส่วนที่ติดกันของบ้าน เมื่อมองจากภายนอก จึงให้ความรู้สึกเหมือนได้บ้านเดี่ยว ที่มีเนื้อที่ดินเล็กลงเท่านั้นเอง
ข้อดี
ราคาไม่แพงเท่าบ้านเดี่ยว
มีฟังก์ชั่นการใช้งานในบ้านครบเทียบเท่าบ้านเดี่ยว
ให้ความรู้สึกโปร่ง โล่ง เพราะมีหน้าต่างได้หลายด้าน
หากบ้านแฝดหลังที่ติดกันเป็นคนรู้จัก หรือสนิทกัน จะรู้สึกอุ่นใจ สามารถช่วยเหลือกันดูแลบ้านในช่วงเวลาที่ไม่อยู่บ้านได้
มีพื้นที่ด้านข้างบ้าน ข้างใดข้างหนึ่งของบ้าน อาจจะจัดสวนเล็กๆ ทำทางเดิน ทำให้รู้สึกโปร่งกว่าทาวน์เฮ้าส์ เพราะไม่ได้ถูกขนาบด้วยผนังทั้งสองข้าง
ข้อเสีย
ด้วยเนื้อที่ดิน และพื้นที่ใช้สอยที่มากกว่า ทำให้ราคาสูงกว่าทาวน์เฮ้าส์พอสมควร
ความเป็นส่วนตัวน้อยกว่าบ้านเดี่ยวเพราะมีผนังด้านหนึ่งติดกับคนอื่น
บ้านแฝดที่มีกำแพงหรือผนังด้านหนึ่งติดกันกับเพื่อนบ้าน หากบ้านด้านข้างส่งเสียงดัง อาจทำให้เกิดความรำคาญได้
บ้านแฝดที่ใช้โครงลานจอดรถร่วมกัน เวลาเลื่อนประตูบ้าน หรือมีรถเข้ามาจอด อาจทำให้ได้ยินเสียงรถชัดเจนกว่าปกติ
บ้านแฝดใช้เนื้อที่ดินพอสมควร ทำเลที่ตั้งจึงไม่ได้อยู่ใจกลางเมือง หากอยู่ใจกลางเมืองจะมีราคาค่อนข้างสูงมาก
บ้านแฝดเปลี่ยนไปจริงๆ นวัตกรรมเหล่านี้ ทางหนึ่งก็เป็นประโยชน์แก่คนซื้อ เพราะทำให้คนซื้อมีทางเลือกมากขึ้น และอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เช่น คนที่อยากบ้านเดี่ยวแต่ะสู้ราคาไม่ไหว ก็ซื้อบ้านแฝดแทน