การซื้อบ้านในฝันสักหลังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยุ่งยาก และใช้เวลาค่อนข้างนาน เพราะมีเรื่องของเงินๆ ทองๆ การขอสินเชื่อเข้ามาเกี่ยวข้อง และบ่อยครั้งที่เมื่อได้บ้านที่ถูกใจ กลับไม่สามารถกู้ธนาคารผ่านได้ ความฝันที่อยากจะมีบ้านสักหลังก็อาจจะกลายเป็นแค่ความฝันต่อไป หากไม่มีการเตรียมตัวที่ดีพอ
การเตรียมตัวก่อนการซึ้อบ้าน อันที่จริงแล้วไม่ยาก เพียงแค่ทำตาม 6 ขั้นตอนนี้
1. คำนวณว่าจะสามารถกู้ซื้อบ้านได้เท่าไหร่
นี่เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด เพราะจะบอกถึงราคาบ้านที่คุณควรจะมองหา และจะทราบได้ว่าจะขอสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านได้เท่าไหร่ โดยลองทำตามลำดับดังนี้
- ขอรายละเอียดการขอสินเชื่อจากธนาคาร
- เปรียบเทียบข้อเสนอแต่ละธนาคาร
- กำหนดงบประมาณในการซื้อบ้าน
- กำหนดงบประมาณในการตกแต่งบ้าน
- คำนวณความสามารถในการชำระหนี้ต่อเดือน และ จำนวนปีที่ต้องผ่อน
- คำนวณความสามารถในการชำระหนี้ทั้งหมดลบภาระหนี้อื่นๆ จะได้ยอดที่เหลือไว้ชำระผ่อนบ้าน
เราจะเริ่มคำนวณจากหลักการง่ายๆ คือ หากบ้านราคา 1 ล้านบาท เราควรจะต้องผ่อนชำระหนี้เดือนละ 7,000 บาท และ ภาระหนี้ทั้งหมดต่อเดือนไม่ควรเกิน 1 ใน 3 ของรายได้ในเดือนนั้นๆ เช่น ถ้าคุณมีรายได้ 21,000 บาทต่อเดือน จะสามารถชำระหนี้ได้ประมาณ 7,000 บาทต่อเดือน ทั้งนี้สามารถใช้เครื่องมือช่วยคำนวณจากเวปไซด์ของทุกธนาคารช่วยได้
2. เคลียร์เงื่อนไขในสัญญา รีบปิดหนี้เดิมก่อนกู้หนี้ใหม่
ขั้นตอนต่อมาคือการติดต่อกับธนาคารเพื่อขอสินเชื่อซื้อบ้าน ซึ่งแต่ละธนาคารก็จะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ให้ไปขอเอกสารรายละเอียดมาศึกษาก่อน เพื่อเปรียบเทียบธนาคารที่เงื่อนไขน่าสนใจ และทราบเงื่อนไขที่เราต้องปิดก่อนจะไปขอกู้สินเชื่อ ดังนี้
- ตรวจสอบวงเงินที่จะสามารถกู้ได้ โดยธนาคารจะให้กู้เพียง 80-90% ของราคาประเมิน
- ทำตัวเลขบัญชีให้เลขสวย โดยรักษายอดรายรับรายจ่ายในบัญชีอย่างน้อย 6 เดือน
- ตรวจการจ่ายหนี้อื่นๆ และบัตรเครดิตว่าจ่ายตรงตามเวลาทุกงวด
- ตรวจสอบเครดิตบูโรด้วยการขอจากธนาคารที่ขอสินเชื่อก่อนยื่นกู้
- หากมีหนี้สินค้างอยู่ ชำระเสียให้หมด
- ยกเลิกบัตรเครดิตที่ไม่ได้ใช้ ลดการสร้างหนี้อื่นๆ
- หาคนค้ำ หรือ หลักทรัพย์ค้ำประกัน ที่เหมาะสมกับวงเงินที่กู้
- ประเมินภาระหนี้ทั้งหมดเพื่อเอาไปลบกับความสามารถในการชำระหนี้
3. เลือกบ้านที่ใช่ ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคุณ
ขั้นตอนต่อไปก็คือการเลือกบ้านในฝันของคุณ สิ่งสำคัญคืออย่ารีบร้อนเกินไป เพราะคุณต้องอยู่กับบ้านหลังนี้ไปอีกนานหลายปี ดังนั้นควรพิจารณาบ้านให้รอบคอบเสียก่อน ทั้งนี้ควรเปรียบเทียบโครงการ 2-3 โครงการในการตัดสินใจ โดยดูรายละเอียดดังนี้
- เลือกรูปแบบบ้านที่สนใจ เช่น บ้านเดี่ยวสองชั้น ทาวน์โฮม หรือ คอนโด
- เลือกสไตล์บ้านที่สนใจ เช่น สไตล์โมเดิร์น สไตล์ทรอปิคอล หรืออื่นๆ
- ศึกษารายละเอียดของบ้าน เช่น พื้นที่ใช้สอย จำนวนห้อง วัสดุที่ใช้ และ โครงสร้างบ้าน
- ศึกษารายละเอียดส่วนกลางของโครงการ
- ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับผู้พัฒนาโครงการและงานที่ผ่านมา
- ศึกษาความคืบหน้าโครงการ
- สอบถามอนาคตหลังบ้านขายหมด
- ทำตารางเปรียบเทียบบ้านแต่ละโครงการ
4. เลือกทำเลที่ดี ตอบโจทย์การใช้ชีวิต
บางคนอาจจะมองเรื่องของทำเลเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าตัวบ้าน ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตต่อไปเมื่อย้ายไปอาศัยอยู่ โดยอาจจะลิสต์ลำดับความสำคัญมาเป็นข้อๆ ว่าจะให้น้ำหนักกับทำเลแบบไหนมากที่สุดและรองลงมา โดยให้ดูรายละเอียดดังนี้
- เลือกทำเลที่เหมาะกับการใช้ชีวิต โดยเรียงลำดับความสำคัญมากไปน้อย
- สำรวจสิ่งอำนวยความสะดวกรอบโครงการ
- ลงพื้นที่ศึกษาพื้นที่รอบโครงการในแต่ละช่วงเวลา
- ศึกษาเส้นทางสัญจรรอบโครงการ และการเดินทางเข้าออกเมือง
- ศึกษาแนวโน้มการขยายถนนและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในย่านที่เราสนใจ
- ศึกษาราคาประเมินที่ดิน และ ประเมินอสังหาริมทรัพย์ หากต้องการซื้อเพื่อลงทุน
5. เตรียมเอกสารการขอกู้
เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วก็เตรียมตัวสำหรับการยื่นเอกสารที่จำเป็นในการขอกู้ ซึ่งจะระบุตามเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร ทั้งนี้ผู้ที่ทำอาชีพอิสระหรือพ่อค้าที่ไม่มีเงินเดือน อาจจะต้องเตรียมเอกสารแสดงรายได้ และ เอกสารการทำงานมากขึ้น ดังนี้
- สำเนาบัตรประชาชน
- ทะเบียนบ้านตัวจริงและสำเนา
- รายการเดินบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน
- สลิปเงินเดือนย้อนหลัง 6 เดือน
- หนังสือรับรองเงินเดือน
- เอกสารประกอบจากรับเงินจากบริษัทที่ไปรับจ้าง (รับจ้างอิสระ)
- เอกสารประกอบวิชาชีพ (รับจ้างอิสระ)
- สำเนาทะเบียนสมรส
- สำเนารายการบัญชีเงินฝากอื่นๆ
6. อ่านสัญญาให้ดีก่อนจะเซ็นอะไร
การซื้อขายบ้านต้องมีสัญญาจะซื้อจะขาย ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ คุณจำเป็นจะต้องอ่านสัญญาต่างๆ ที่ทางธนาคารและโครงการที่เข้าไปซื้อบ้านอ่านให้ชัดเจนและเข้าใจ รวมถึงความถูกต้องในการสะกดตัวหนังสือหรือตัวเลข เพื่อป้องกันผลประโยชน์ต่างๆ โดยทั้งในสัญญากู้ซื้อบ้าน และ สัญญาจะซื้อจะขาย ต้องดูรายละเอียด ดังนี้
- ก่อนลงชื่อหรือจ่ายมัดจำ ต้องอ่านสัญญาและเงื่อนไขอย่างละเอียด
- ตรวจสอบชื่อของคุณ ชื่อผู้ขาย ขนาดที่ดิน หรืออื่นๆ ที่เป็นตัวเลขให้ดี เพราะเป็นจุดที่มักเขียนผิด
- ไม่ควรทำสัญญาที่มีการระบุวันโอนบ้าน เพราะผู้ขายต้องให้ตรวจบ้านก่อนโอน
- สัญญาต้องระบุว่าหากจองบ้านไป แต่กู้บ้านไม่ผ่าน ควรได้เงินคืน
- ถ้าบ้านหรือส่วนกลางยังไม่เสร็จ สัญญาควรระบุว่าบ้านจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่
- เก็บใบปลิว และ เอกสารประกอบการขายไว้ หรือถ่ายรูปป้ายโฆษณาเป็นหลักฐาน
- โปรโมชั่น และของแถมที่จะได้ ต้องมีระบุในสัญญา
- ในสัญญากู้ซื้อบ้าน อ่านกรณีโทษปรับหากไม่ชำระหนี้ตามกำหนด และ กรณียกเลิกสัญญา ให้ถี่ถ้วน
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจมีความคิดว่า จะซื้อบ้านสักหลังต้องเตรียมตัวขนาดนี้เลยเหรอ ต้องบอกว่าการเตรียมตัวก่อนการซื้อบ้านอาจดูเหมือนมีหลายอย่างที่คุณต้องเตรียม แต่มันก็คุ้มค่าหากช่วยให้ความฝันในการวางแผนซื้อบ้านของคุณมีโอกาสที่มากขึ้น เพราะชีวิตที่ดีต้องมีการวางแผน การซื้อบ้านก็เช่นกัน