อนาคตชีวิตคนเมืองกับเวลาในการเดินทางปี 2572

You are currently viewing อนาคตชีวิตคนเมืองกับเวลาในการเดินทางปี 2572

อนาคตชีวิตคนเมืองกับเวลาในการเดินทางปี 2572

  • ในปี 2572 เวลาเดินทางโดยรวมของระบบขนส่งสาธารณะ จะใช้เวลาลดลง โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณ บางใหญ่ พุทธมณฑล ลาดพร้าว ดอนเมือง และ มีนบุรี
  • การเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลจะยิ่งแย่ลง และใช้เวลาในการเดินทางที่มากขึ้น
  • ย่านที่เข้าเมืองควรใช้ระบบขนส่งสาธารณะ คือ รังสิต ดอนเมือง บางกะปิ พัฒนาการ นวมินทร์ บางแค สาย 2 ศาลายา เป็นต้น

คนกรุงเทพฯ มีกรรมด้านการเดินทาง

ปัญหาด้านการเดินทาง เป็นปัญหาหลักของเมืองอย่างกรุงเทพเลยก็ว่าได้ และยิ่งไปกว่านั้น การที่เราไปติดอันดับเมืองที่รถติดที่สุดในโลกยิ่งซ้ำเติมเราไปอีก หลังจากที่มีการเปิดเผยรายงานการประเมินสภาพจราจรทั่วโลก ประจำปี 2016 หรือ Global Traffic Scorecard Report บ่งชี้ว่าไทยเป็นประเทศรถติดมากเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยคนไทยในแต่ละเมืองทั่วประเทศเสียเวลาเฉลี่ยราว 61 ชั่วโมงต่อปีไปกับรถติดบนถนน ขณะที่กรุงเทพฯ ติดอันดับเมืองรถติดอันดับ 12 ของโลก และผู้ใช้ถนนเสียเวลาไปกับรถติดประมาณ 64.1 ชั่วโมงต่อปี

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่บ่งชี้ถึงเวลาที่คนกรุงเทพฯ ใช้เวลาในการเดินทางที่แสนยาวนานกว่า 800 ชั่วโมงต่อปี หรือกว่า 1 เดือน กับอีก 3 วันต่อปี (หรือถ้าจะเปรียบเทียบให้แย่ไปกว่านั้นคือ ใน 12 ปี เราอยู่บนรถกันนานถึง 1 ปีเลยทีเดียว)

การมุ่งเน้นการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของรัฐในปัจจุบัน ทั้งทางถนน และทางราง โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย และการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็อาจมาพร้อมกับคำถามที่ว่าจะคุ้มค่าหรอ..?” หรือรถจะหายติดไหม

วันนี้เราไปดูอนาคตในปี พ.ศ. 2565 และ 2572 ว่า เมื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งที่มีแผนอยู่ในปัจจุบันนั้นเสร็จสิ้นทั้งหมด ชีวิตของเราทุกๆ คนจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

ในการวิเคราะห์เราได้ใช้แบบจำลองการเดินทางในระดับเมืองสำหรับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (eBUM) ซึ่งถูกใช้ในการพยาการณ์ปริมาณความต้องการเดินทางที่จะเกิดขึ้น ตัวอย่างที่ทุกท่านคงเคยผ่านหูผ่านตามามากที่สุดก็คือ จำนวนผู้ใช้รถไฟฟ้าในอนาคต โดยวิเคราะห์รูปแบบและระบบขนส่งครอบคลุมการจราจรทางถนน ทางน้ำ และบนระบบราง ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในเขตมหานครทั้งระบบส่วนบุคคล รถรับจ้าง การขนส่งมวลชน และระบบขนส่งสาธารณะทางราง ซึ่งฐานข้อมูลที่ใช้นั้นได้ถูกรวบรวมและตรวจสอบข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับแผนงานโครงการด้านการจราจรและขนส่งในบริเวณพื้นที่ศึกษาทั้งในปัจจุบันและในอนาคตจากหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรุงเทพมหานคร กรมทางหลวง เป็นต้น

เวลาการเดินทางที่ปรากฎเป็นเวลาการเดินทางโดยเฉลี่ยตลอดทั้งวัน ในการเดินทางจากแต่ละพื้นที่ไปยังสถานีรถไฟฟ้า BTS สยาม เวลาการเดินทางดังกล่าวเป็นค่าประมาณของเวลาเท่านั้น

การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ

การประมาณเวลาการเดินทางกรณีของการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ แบบจำลองจะเลือกวิธีการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่ใช้เวลาการเดินทางน้อยที่สุด ซึ่งในพื้นที่ติดรถไฟฟ้าย่อมจะเลือกเดินทางด้วยรถไฟฟ้า รวมไปถึงการเดินทางด้วยรถเมล์ต่อรถไฟฟ้า

ในปี พ.ศ. 2565 เมื่อรถไฟฟ้าบางเส้นทางก่อสร้างเสร็จและเปิดให้บริการตามแผนที่กำหนดไว้ จะทำให้การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะจากพื้นที่ต่างๆ เข้าสู่ตัวเมืองเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น ในด้านตะวันตก เช่น บริเวณเขตบางแค ดอนเมือง สายไหม ถนนจรัญสนิทวงศ์ และด้านทิศตะวันออก และทิศใต้ เช่น สมุทรปราการ ถนนศรีนครินทร์ รามอินทรา มีนบุรี สามารถเดินทางเข้ามาที่สถานี BTS สยามโดยใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงเท่านั้น!

ในปี พ.ศ. 2572 เมื่อโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าทั้งหมดแล้วเสร็จตามแผนจะทำให้ขอบเขตพื้นที่ที่เดินทางใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงมาถึงสถานีสยามนั้นกว้างมากขึ้น
โดยเฉพาะด้านทิศตะวันตกบริเวณศาลายา และด้านทิศตะวันออกบริเวณเขตบางกะปิ บึงกุ่ม และมีนบุรี รวมไปถึงจากด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ จากบางบอน และบางขุนเทียน

เมื่อพิจารณาจากย่านที่สำคัญจะพบว่า การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งตามแผนตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 -2572 จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านเวลาที่ใช้ในการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะโดยส่วนใหญ่จะใช้เวลาในการเดินทางเข้ามาในพื้นที่ใจกลางเมืองได้เร็วขึ้น ซึ่งมีพื้นที่ที่น่าจับตามอง ดังนี้

  • กลุ่มย่านที่สามารถเดินทางเข้าเมืองด้วยเวลาที่รวดเร็วขึ้นมากกว่า 30 นาที หรือครึ่งชั่วโมง คือกลุ่มพื้นที่ศูนย์กลางชานเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ย่านศาลายา พุทธมณฑล สาย 2 ดอนเมือง นวมินทร์ มินบุรี เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันต้องใช้เวลาในการเดินทางอย่างน้อย 1 ชั่วโมงครึ่ง ถึง 2 ชั่วโมงครึ่ง
  • กลุ่มย่านที่สามารถเดินทางได้เร็วขึ้นประมาณ 10 – 30 นาที คือกลุ่มพื้นที่เมืองและชานเมืองในระดับถัดมา คือ ย่านรังสิต สำโรง รามคำแหง และบางกะปิ เป็นต้น ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1-2 ชั่วโมง
  • กลุ่มที่สามารถเดินทางได้เร็วขึ้นไม่เกิน 10 นาที หรือแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงด้านเวลาในการเดินทาง คือ ย่านพัฒนาการ ห้าแยกลาดพร้าว วงเวียนใหญ่ บางแค เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่พื้นที่เหล่านี้ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาที – 1 ชั่วโมง

การเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว

หน่วยงานภาครัฐ มีแผนงานการพัฒนาโครงข่ายถนนในอนาคตในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทั้งถนน ทางพิเศษ ทางหลวง และสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา จากภาพในปี พ.ศ. 2565 เห็นได้ว่า ในภาพรวมเวลาการเดินทางด้วยรถยนต์จะดีขึ้น เนื่องจากการมีสะพานข้ามแม่น้ำ และระบบทางพิเศษเพิ่มขึ้น ทำให้การเดินทางด้วยรถยนต์ใช้เวลาได้น้อยลง โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณด้านตะวันตกของกรุงเทพฯ อาทิ เส้นถนนพระราม 2

อย่างไรก็ตาม ด้วยระดับการเติบโต (Growth Rate) ของรถยนต์จากข้อมูลที่ผ่านมา พบว่าในปี พ.ศ. 2572 ภาพรวมของเวลาการเดินทางด้วยรถยนต์จะเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ด้านทิศตะวันออกของกรุงเทพฯ เนื่องจากมีโครงการการพัฒนาทางถนนจำนวนไม่กี่โครงการเท่านั้น และด้วยปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ต้องใช้เวลาการเดินทางเพิ่มมากขึ้น

ซึ่งเมื่อพิจารณาจากย่านที่สำคัญจะพบว่า การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งตามแผน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 -2572 จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านเวลาที่ใช้ในการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวโดยส่วนใหญ่ใช้เวลาในการเดินทางนานขึ้น ซึ่งมีพื้นที่ที่น่าจับตามอง ดังนี้

  • กลุ่มย่านที่เดินทางโดยรถยนต์ได้สะดวกขึ้น ประมาณ 10-20 นาที ซึ่งส่วนใหญ่ย่านที่สามารถเดินทางเข้าพื้นที่ใจกลางเมืองได้ดีขึ้น หรือเร็วขึ้นเป็นกลุ่มพื้นที่บริเวณฝั่งธนบุรี คือ ย่านมหาชัยเมืองใหม่ สาย 4 อ้อมน้อย พระราม 2 วงเวียนใหญ่ เป็นต้น
  • กลุ่มย่านที่เดินทางโดยรถยนต์ได้แย่ลง/ใช้เวลานานขึ้น ซึ่งเป็นภาพรวมทั้งหมดเป็นเช่นนั้น ด้วยเหตุผลที่กล่าวไปข้างต้น คือ ย่านรังสิต ดอนเมือง รามคำแหง พัฒนาการ มีนบุรี นวมินทร์ บางแค บางกะปิ ลาดพร้าว เป็นต้น

คงเห็นแล้วใช่ไหมครับว่า การพัฒนาโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าจะเปลี่ยนชีวิตของเราทุกคน คนที่มีที่อยู่พักอาศัยในชานเมืองสามารถนั่งรถไฟฟ้าเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ได้โดยไม่จำเป็นต้องพักอาศัยในกรุงเทพฯ เดินทางได้สะดวกมากขึ้น มีทางเลือกการเดินทางมากขึ้น รวมไปถึงเรื่องสุขภาพจิต สุขภาพร่างกายก็จะดีขึ้นด้วย ไม่ต้องมาจิตตกกับปัญหาการจราจร เมื่อขับรถยนต์ อย่างไรก็ตาม ผู้ขับรถยนต์ก็อาจยังคงต้องเผชิญกับปัญหาการจราจรต่อไป

Leave a Reply